Accessibility Tools

โครงการพัฒนา soft skill นักศึกษา ด้วยทักษะวิศวกรสังคม โชว์ผลงานการเรียนรู้ด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคม มุ่งพัฒนานักศึกษา ให้มีทักษะการเป็นนักประสานงาน นักสื่อสาร นักคิด และนักนวัตกร ตอบโจทย์การพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน

      วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ โดม 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนา soft skill นักศึกษาด้วยทักษะวิศวกรสังคม กิจกรรมนำเสนอนิทรรศการ SOCIAL ENGINEER OF MCRU รายวิชาพัฒนาตน ด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคม โดยมีคณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ร่วมในพิธี ซึ่งอาจารย์ ดร.นพดล ทุมเชื้อ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ของโครงการ และในพิธีเปิดงานมีชุดการแสดงของนักศึกษา ชมรม ทูบีนัมเบอร์วันของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งตามที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนงานโครงการ ขยายเครือข่ายวิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยฯ และได้มีการจัดการพัฒนารายวิชาพัฒนาตน ด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคมขึ้น และเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1/2566 ตลอดจนมีการพัฒนาอาจารย์ และพัฒนานักศึกษาผู้นำ โดยพัฒนาในรูปแบบของคณะ รวมทั้ง 6 คณะ ควบคู่กันไป ซึ่งมีผลการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ และทักษะด้านวิศวกรสังคมไปใช้ประโยชน์จริง ให้นักศึกษาได้ศึกษาสภาพปัญหาของชุมชน และนำไปสู่กระบวนการพัฒนา และวางแผนการแก้ปัญหา (Timeline Process) เป็นการขยายเครือข่ายวิศวกรสังคม เพื่อเป็นเครือข่ายไปยังคณะที่นักศึกษาสังกัดในแต่ละคณะ ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 260 คน และกิจกรรมวันนี้เป็นอีก 1 กิจกรรม คือ กิจกรรมนำเสนอนิทรรศการ SOCIAL ENGINEER OF MCRU รายวิชาพัฒนาตน ด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคม จากนั้นโดยประธานได้เดินชมและรับฟังการเสนอผลงานนิทรรศการของนักศึกษาแต่ละคณะตามบูธต่างฯ โดยมีผลงานนักศึกษาเข้าร่วมนำเสนอ ผลงานนวัตกรรมที่เกิดจากการพัฒนาทักษะ Soft skills ของนักศึกษา ด้วยทักษะวิศกรสังคม จำนวน ทั้งสิ้น 34 กลุ่ม แบ่งเป็นนักศึกษารายวิชาพัฒนาตนด้วยโปรแกรมสติ ชั้นปีที่ 1 จำนวน 28 กลุ่ม และผลงานในรูปแบบของคณะ จำนวน 6 กลุ่ม
      โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาสภาพปัญหาของชุมชน และนำไปสู่กระบวนการพัฒนา และวางแผนการแก้ปัญหา (Timeline Process) เป็นการขยายเครือข่ายวิศวกรสังคม เพื่อเป็นเครือข่ายไปยังคณะที่นักศึกษาสังกัด โดยมีผู้นำนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 5 คณะ 1 วิทยาลัย ประกอบด้วย คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาการจัดการ วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย องค์การนักศึกษากลาง กองพัฒนานักศึกษา และนักศึกษารายวิชาพัฒนาตน ด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคม ชั้นปีที่ 1 จำนวน 12 หมู่เรียน และจัดเป็นกลุ่ม teaching จำนวน 4 กลุ่ม โดยได้รับความอนุเคราะห์จากรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาทุกคณะ และอาจารย์ผู้สอนรายวิชาพัฒนาด้วยโปรแกรมสติและวิศวกรสังคม เป็นที่ปรึกษาแต่ละโครงการ
      ซึ่งโครงการพัฒนา soft skill นักศึกษา ด้วยทักษะวิศวกรสังคม เป็นอีกโครงการหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ในการส่งเสริมความรู้ ทักษะทั้ง 4 ด้าน ที่จะส่งผลให้นักศึกษาได้เป็นบุคคลที่มีทักษะชีวิตที่ดี ทั้งทักษะการเป็นนักประสานงาน นักสื่อสาร นักคิด และนักนวัตกร นับได้ว่าโครงการพัฒนา soft skill นักศึกษา ด้วยทักษะวิศวกรสังคม ยังเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ มีจิตสำนึกและอุดมการณ์ในการทำงาน และการอยู่ร่วมกัน เป็นแนวทางที่ดีที่ในการส่งเสริมสนับสนุน สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตและการเรียน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และท้องถิ่นของตนเอง ตอบโจทย์การพัฒนามหาวิทยาลัยฯ และการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญต่อไป


    
  ที่มา : กองพัฒนานักศึกษา