Accessibility Tools

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย และทีมU2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ส่งมอบผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้ชาวบ้านเตาปูน เพื่อดูแลสุขภาพในสถานการณ์โควิด 19 ตอบโจทย์การบูรณาการศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

             วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ผศ.ณิภารัตน์ บุญกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงพร้อมผศ.ดร.สำราญ สุขแสวง คณบดีวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย ผศ.กัณตา นิ่มทัศนศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย ผู้ประสานงานทีมU2Tมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเตาปูน พร้อมคณะอาจารย์ และทีมงาน U2Tตำบลเตาปูนร่วมส่งมอบผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรจากฟ้าทะลายโจรที่ผ่านกระบวนการแปรรูปให้กับนายประเมิน นิลบุตร รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ปฏิบัติหน้าที่ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน นายชัยณรงค์ พุ่มฉายา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตาปูนและผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พร้อมกันนี้คณะทำงานได้นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปส่งมอบให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ ซึ่งคณะทำงานU2T ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมพืชสมุนไพรในชุมชนตำบลเตาปูน โดยพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในงานสาธารณสุขมูลฐานภายในชุมชน เช่น มะกรูด ตะไคร้ ข่า ฟ้าทะลายโจร ไพล ขมิ้น ที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่สามารถทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก และนำข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าวมาสรุป เพื่อทำความเข้าใจในชุมชนในเรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร การนำพืชสมุนไพรมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของชุมชน และส่งเสริมการเรียนรู้ การขายทางด้านการตลาด ตลอดจนนำพืชสมุนไพรที่มีในชุมชนมาใช้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นภายในชุมชนอย่างยั่งยืน
             สำหรับตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีเป็น 1 ใน35 ตำบลพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำหรับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีการจ้างงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครอบคลุมในประเด็นต่างๆตามปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึงการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน และให้มีการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่น
             ผศ.กัณตา นิ่มทัศนศิริ กล่าวว่าในส่วนชุมชนเตาปูนมีอาชีพหลักคือการทำนา รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเกี่ยวข้าว ในสถานปัจจุบันมีสภาพปัญหาภัยแล้งและทางรัฐบาลได้รณรงค์ให้ยกเลิกการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากใช้น้ำมากเกิน และเกิดภาวะภัยแล้ง จึงส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนจะมีรายได้ลดลง คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการเข้าไปประชุม สอบถามความคิดเห็น ความต้องการของชาวบ้านในชุมชนโดยผ่านผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน และได้ข้อสรุปว่า ชุมชนต้องการให้เข้าไปส่งเสริม พัฒนาฝีมือชุมชนด้านพืชสมุนไพร โดยที่จะต้องไม่ขัดกับอาชีพหลักของชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ได้ทำหรือทำเป็นส่วนร่วมของตำบล โดยส่งตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านและคัดเลือกกลุ่มเปราะบางให้เข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งเมื่อเราได้ฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรจากชาวบ้านก็เข้าสู่กระบวนการผลิต โดยทีมงานU2Tและคณะอาจารย์สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย โดยการผลิตสมุนไพรก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาส่งเสริมนักศึกษาเป็นการบูรณาการศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร