Accessibility Tools

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเปิดค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่นกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนคัดเลือก ค้นหานักเรียนทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 3 สร้างโอกาสสร้างความเท่าเทียมการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

              เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเป็นประธานปฐมนิเทศกิจกรรมการเตรียมความพร้อมก่อนคัดเลือกและการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 3 ปีการศึกษา 2565 “ค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่น ณ ห้องประชุมฉัตรฟ้า อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดยอาจารย์ ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และความเป็นมาของโครงการ ซึ่งมีอาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและคณะทำงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทีมวิทยากรผศ.สุนิสา โพธิ์พรม ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการอาจารย์วัฒนพงศ์ อ่อนนุ่ม ประธานสาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ร่วมพิธี ซึ่งมีนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองเข้าร่วมกิจกรรมการเตรียมพร้อมก่อนคัดเลือกจำนวน 43 คนจากจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์เข้าค่ายครูรัก(ษ์)ถิ่นระหว่างวันที่ 10-17 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อคัดเลือกผู้รับทุนในโครงการจำนวน 30 คน
              ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ได้รับคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีการศึกษา 2565 เพื่อดำเนินการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 3 โดยสร้างโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีจิตใจที่รักจะเป็นครูเพื่อพัฒนาโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นชุมชนภูมิลำเนาของตนเอง และสถาบันผลิตและพัฒนาครูจะต้องดำเนินงานตามกิจกรรมหลักของโครงการ ซึ่งกิจกรรมการเตรียมความพร้อมนักเรียนกลุ่มเป้าหมายก่อนสอบคัดเลือกเป็นกิจกรรมหลักอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะได้มาซึ่งผู้ที่มีความเหมาะสมในการได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ทางคณะครุศาสตร์จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้สมัครรับทุนและเพื่อคัดเลือกผู้สมัครรับทุน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ประจำปีงบประมาณ 2565 และตามโครงการผู้ได้รับการพิจารณาจะศึกษาในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มีทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร มีค่าครองชีพและอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนการพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต และจิตวิญญาณของความเป็นครู เมื่อนักศึกษาจบการศึกษาก็จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วยในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเองเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร